TBCSD ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

TBCSD ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือTBCSD) ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคธุรกิจไทยและรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้า จำนวน 45 องค์กรที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันครอบคลุมทุกกลุ่ม อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้มีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจ คาร์บอนต่ำและยั่งยืน จึงได้ร่วมกันจัดงาน “TBCSD Towards a Sustainable Future มุ่งสร้างแรงขับเคลื่อนธุรกิจ ไทยสู่ความยั่งยืน” ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ และการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของประเทศ
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “กว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่สมดุลขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจไทยที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจไทยให้ก้าวพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TBCSD ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งการยกระดับมาตรฐานขององค์กรไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอบสนองนโยบายและเป้าหมายของประเทศไทย”
ช่วงการเสวนา “CEO Forum : Leading Sustainable Business” มีผู้บริหารจากองค์กรภาคธุรกิจไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กร ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน นำโดยคณะกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจไทยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ร่วมยกระดับองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่มาตรฐานการเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยร่วมมือกับองค์กรภาคีทุกภาคส่วน ในการกำหนดเป้าหมาย มาตรการและกรอบกิจกรรมที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการร่วมกัน อันเป็นการแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่เชื่อมต่อเป้าหมายของประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ TBCSD ก็ได้ให้ความสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ PM2.5 ขยะพลาสติก ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น”

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนจากการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นแต่การหาความมั่งคั่งโดยไม่สนใจสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นการทำธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจไปด้วยกัน ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ ความรู้ เทคโนโลยี และการเงิน ซึ่งบทบาทสำคัญของธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มการเงินและธนาคาร นอกจากจะทำให้การดำเนินงานภายในบริษัทตนเองไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องช่วยให้ลูกค้าและสังคมเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยตระหนักดีว่าเราเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในสังคมได้ ธนาคารจึงมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานของธนาคาร รวมถึง พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดจากการปล่อยกู้หรือลงทุนของธนาคาร ผ่านการตั้งเป้าหมาย Sustainable Financing and investment มูลค่า 2 แสนล้านภายในปี 2030 การทำ Glidepath and sector strategies และการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเรื่อง Climate Solution และการสร้าง Green Ecosystem โดยการจัดตั้งบริษัท KOP50 และบริษัทอื่น ๆ เพื่อดำเนินโครงการที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน”

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์นั้นมีความท้าทายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบคาร์บอนต่ำ การพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล การขนส่งที่ปล่อยมลพิษต่ำ ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง กฎเกณฑ์และระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืน (Sustainable Products) มากขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ได้แก่ นโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ การผลิตและการจัดหาน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนถือเป็นความท้าทายหลักในการมุ่งไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ว่า “การมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยทุกองค์กรต้องวางแผนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้” ดังนั้น ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญก็คือความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งจะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ไปด้วยกัน”

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Green Process ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในทุกขั้นตอน คือ สิ่งที่ออริจิ้นยึดถือและมุ่งมั่นเพื่อให้ไปให้ถึงเป้าหมายด้าน Net Zero Carbon Target โดยเริ่มตั้งแต่ Green people คือ การเลือกและพัฒนาบุคลากรที่มีหัวใจสีเขียว ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ยั่งยืน Green Partners และ Green Procurement คือ การพัฒนาร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ เน้นการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Green Construction คือ การก่อสร้างที่คำนึงถึงชุมชนและสังคม ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบและก่อสร้างอาคารอย่างยั่งยืน ออริจิ้นมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business) ภายใต้หลักบรรษัทภิบาล โดยดำเนินธุรกิจไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว”

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยปัจจุบันได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมาก ซึ่ง ปตท.สผ. กำลังศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทยที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ ในอ่าวไทย เพื่อช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเชื่อมั่นในการสร้างความยั่งยืนจากภายในผ่านการดำเนินงานที่ดี บนรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อส่งมอบคุณค่าในระยะยาวให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือในด้านธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน”

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แพลตฟอร์ม CarbonWatch เป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี Artificial Intelligence: AI และ Machine Learning: ML จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของเรา ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ลูกค้าของเราในหลายมิติ โดยที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG มาโดยตลอด หลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ของเราได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป”

Coffee Shop

ดูผลงานทั้งหมด »

Sport

ดูผลงานทั้งหมด »

Activity

ดูผลงานทั้งหมด »