King the Land ฟีเว่อร์!ความสำเร็จของกรมการท่องเที่ยวกับภารกิจส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
King the Land ฟีเว่อร์!
จากกระแสความนิยมซีรีส์เกาหลี King the Land ตอนที่ 10 ที่ออนแอร์ไปเมื่อคืนวันอาทิตย์ (16 กรกฎาคม 2566) ที่ผ่านมาได้นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสอดแทรกภาษาไทย การรับประทานอาหาร Street Food การท่องเที่ยวยามค่ำคืน ทั้งการล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา การนั่งรถตุ๊กตุ๊กชมเมือง หรือการรับประทานอาหารค่ำสุดหรูบนยอดตึก ล้วนสร้างความประทับใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมซีรีส์ ตามรอยสถานที่ถ่ายทำ
ในอนาคต โดยภาพยนตร์ดังกล่าว ได้รับการอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวให้ถ่ายทำซีรีส์ในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยเงินลงทุนกว่า 18 ล้านบาท
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า “กรมการท่องเที่ยว (DOT) โดยกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ (Thailand Film Office) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียว ที่มีภารกิจในการพิจารณาอนุญาต ส่งเสริมการถ่ายทำ สนับสนุนบุคลากรทีมงานชาวไทย และอำนวยความสะดวกให้แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการถ่ายทำของคณะถ่ายทำต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) การลดขั้นตอนการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ การประชาสัมพันธ์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ การแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับกองถ่ายต่างประเทศ เป็นต้น อันจะส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงานให้กับบุคลากรชาวไทย กระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ รวมทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และ
มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) ของประเทศไทยเป็นรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) จำนวนร้อยละ 15 – 20 ของเงินลงทุนในประเทศไทย โดยคณะถ่ายทำที่มีเงินลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 50 ล้านบาท จะได้รับเงินคืนจำนวนร้อยละ 15 และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 5 อาทิ
– ร้อยละ 5 หากภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริม Soft Power และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
– ร้อยละ 3 หากมีการจ้างบุคลากรหลักของไทย (Key Personnel) เป็นคณะทำงานในกองถ่ายทำภาพยนตร์ อาทิ เช่น ผู้กำกับ นักแสดงหลัก เป็นต้น
– ร้อยละ 3 หากมีการถ่ายทำในจังหวัดเมืองรอง จำนวน 55 จังหวัด ตามนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
– ร้อยละ 2 หากมีค่าใช้จ่ายในกระบวนการหลังการถ่ายทำ (Post – Production)
– ร้อยละ 5 หากเริ่มถ่ายทำในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31ธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
โดยกองถ่ายต่างประเทศจะได้รับเงินคืนสูงสุด จำนวน 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีภาพยนตร์ต่างประเทศ
เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2566 จำนวนมากกว่า 50 เรื่อง สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากกว่า 20,000 ล้านบาท
กรมการท่องเที่ยว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ของคณะถ่ายทำต่างประเทศ จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี เผยแพร่วัฒนธรรม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักท่องเที่ยวได้ตามรอยการถ่ายทำตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ผ่านทาง Facebook: TFO Thailand Film Office