“ทริส คอร์ปอเรชั่น” ชู Data Governance ช่วยรัฐออกนโยบายเชิงรุก แก้ปัญหาตรงจุด เซฟงบประมาณแผ่นดิน แนะหน่วยงานภาครัฐตื่นตัว เร่งดำเนินการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศ
“ทริส คอร์ปอเรชั่น” ชู Data Governance ช่วยรัฐออกนโยบายเชิงรุก แก้ปัญหาตรงจุด เซฟงบประมาณแผ่นดิน แนะหน่วยงานภาครัฐตื่นตัว เร่งดำเนินการเพิ่มศักยภาพให้ประเทศ
นายสรรเสริญ สงวนศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับ Digital & Technology ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมไปถึงกฎหมายซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูล จึงจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกหน่วยงานภาครัฐที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและยกระดับหน่วยงานให้สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนของประเทศ ซึ่งพบว่าหน่วยงานส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในเรื่องตัวข้อมูลและความพร้อมในเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูล ให้เป็นไปตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล หรือ Data Governance ทำให้ไม่สามารภสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน และมีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ
“ข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ปัจจุบันพบว่าบางหน่วยงานไม่มีเลย บางหน่วยงานมีข้อมูลแต่ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างจากสถานการณ์โควิด คนตกงาน มีการกลับบ้าน และไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา ซึ่งหน่วยงานไม่มีข้อมูลเชิงลึกเพียงพอ ทำให้เกิดการประมาณการ ซึ่งอาจไม่สมดุลกับสถานการณ์จริง การกกระจายงบประมาณไม่พอ หรือ งบเหลือหน่วยงานจัดสรรงบประมาณไม่ทราบว่าโครงการที่ขอเข้ามาทับซ้อนหรือไม่ เพราะทุกหน่วยงานเสนอเข้ามา ส่งผลให้คนเข้าโครงการซ้ำซ้อน ผลประโยชน์กระจายไม่ทั่วถึง เกิดความเหลื่อมล้ำ”นายสรรเสริญ กล่าว
ดังนั้นการบริหารจัดการข้อมูล หรือ Data Governance จึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหล ซึ่งปัญหานี้จะลดทอนความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจในการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล รวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องมีการบริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย
นายสรรเสริญ กล่าวว่า การทำ Data Governance คือ การพูดถึงตัวกรอบ และตัวหลักเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องของการบริหารจัดการตัวข้อมูลทั้ง Data Life Cycle คือ ตั้งแต่หน่วยงานรับข้อมูลเข้ามา และจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน และจะใช้อย่างไร ใช้ผ่านการควบคุมข้อมูลอย่างไร ใครเป็นคนดูแลข้อมูล ใครเป็นคนตรวจทาน สอบทานข้อมูลว่ามีความถูกต้อง ใครเป็นคนลบได้ ใครเป็นคนทำลายได้ ใครจะใช้ข้อมูลได้บ้าง ใครมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลประเภทไหน จะเก็บถาวรต้องทำอย่างไร เป็นต้น
“หากภาครัฐมีการทำ Data Governance จะทำให้มั่นใจว่าข้อมูลที่เราจะเอามาใช้นั้นมีความถูกต้อง เวลาจะกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะเสนอรัฐบาล ผมบอกได้เลยว่าหน่วยงานจะมั่นใจ แล้วข้อมูลตรง แล้วมันจะทำให้การเสนอมาตรการ หรือโครงการที่เสนอไปสามารถแก้ปัญหาได้จริง ตรงจุด และทันเวลา การใช้งบประมาณจะมีประสิทธิภาพสูงสุด”
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับรัฐ หรือรัฐกับหน่วยงานอื่น เพราะการที่จะแก้ปัญหาในบางอย่างอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องมีการแชร์ข้อมูล หรือเชื่อมต่อกัน ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลกันจะทำให้เห็นมิติของข้อมูลในอีกแบบหนึ่ง ทำให้เวลานำข้อมูลไปใช้จะเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น จะทำให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติงานตามภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้งบประมาณมีความคุ้มค่า สามารถแก้ปัญหา อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้สูงสุด และที่สำคัญการทำ Data Governance จะนำไปสู่การออกนโยบายเชิงรุกที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ส่วนการที่จะดำเนินการในเรื่องของ Data Governance ของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันพบว่าความพร้อมมีหลายกลุ่ม บางกลุ่มทำมาพอสมควรแล้ว พัฒนาตัวระบบฐานข้อมูล อาจจะด้วยภารกิจที่มีความจำเป็นต้องทำ บางหน่วยงานทำเรื่อง Data Governance ไปบ้างแล้ว และบางหน่วยงานยังไม่มีการทำและความพร้อมเลย ซึ่งหลักๆ เลยมาจากตัวทักษะบุคลากรในองค์กร ตั้งแต่วิสัยทัศน์ และความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานในการทำตัวข้อมูล ดังนั้นอยากให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญและเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อเป้าหมายการให้บริการที่ตอบสนองประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความโปร่งใส และช่วยเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ปัจจุบันทริส คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาตัวบริการเรื่องของตัว Data Governance ในการเข้าไปช่วยให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งระบบ ในการทำเรื่อง Data Governance ให้สอดกับการภารกิจและความเหมาะสมกับหน่วยงานนั้นๆ อย่างเป็นระบบและมาตรฐาน