อพท.7 จัดประชาพิจารณ์โครงการศึกษาออกแบบศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์เมืองโบราณอู่ทอง ครั้งที่ 2
อพท.7 จัดประชาพิจารณ์โครงการศึกษาออกแบบศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์เมืองโบราณอู่ทอง ครั้งที่ 2
วันอังคารที่ 28 ก.พ.2560 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสุวรรณภูมิ โรงเรียนอู่ทอง นายสมจินต์ ชาญกระบี่ รอง ผจก.อพท.7 เป็นประธานเปิดการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นหน่วยงาน-ภาคเอกชน-ประชาชน-สื่อมวลชน ต่อการศึกษาและออกแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลประขาสัมพันธ์เมืองโบราณอู่ทอง ครั้งที่ 2 นายสมจินต์ ชาญกระบี่ ได้กล่าวถึงแนวการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองท่องเที่ยวโดยกล่าวว่า ในปีนี้เมืองโบราณอู่ทองจะเกิดการพัฒนาในหลายๆ อย่างด้วยกัน ตลาดสดเทศบาลตำบลอู่ทองก็จะปรับให้น่าเดิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าตลาดไปดูวิถีการค้าขายของได้มากขึ้น มีรถนำเที่ยวดำเนินการโดยเทศบาลตำบลอู่ทอง ขณะที่ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารเมืองโบราณอู่ทองก็จะมีการจัดเทศกาลอาหารจัดขนานไปกับถนนคนเดินวินยานุโยค ในเรื่องของการพัฒนาตลาดน้ำเมืองโบราณอู่ทอง ทาง อพท.ก็ได้หารือกับกรมศิลปากรในการพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องร่วมกัน แต่จะออกมาในรูปแบบมีการล่องเรือโดยรอบคูเมืองที่ไม่เน้นการก่อสร้างสินทรัพย์ถาวรลงไปในแม่น้ำ จะจัดกิจกรรมในรูปแบบตลาดน้ำช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์
การพัฒนาโครงการต่างๆ ในโอกาสถัดไป เราได้รับทราบแนวทางที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานร่วมกันมากขึ้นว่า การของบประมาณไม่ว่าจะหน่วยงานไหนในเรื่องของการนำแบบที่ อพท.ได้รับดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบไปแล้วนั้น ซึ่งจะต้องมีการส่งมอบให้หน่วยงานที่จะดูแลต่อไป มีหลักอยู่ว่า หน่วยงานนั้นๆ ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นจากผลของการพัฒนาโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทฯ จะต้องเป็นหน่วยที่ทำหนังสือยืนยันการดูแล/ซ่อมแซม/ค่าสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่สามารถขอตั้งงบประมาณในอนาคตออกมาใช้ได้
บรรยากาศภายในงาน ผู้แทนบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้อธิบายทำเลทางเลือกในการพัฒนาศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ฯ และได้นำเสนอรูปแบบแนวคิดของอาคารให้ผู้ร่วมประชาพิจารณ์รับทราบข้อมูล โดยในการจัดประชาพิจารณ์ครั้งต่อไป จะมีการตัดสินแบบในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้-ผู้แทนจากสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กล่าวว่า ทางกรมศิลปากรมีความประสงค์ที่จะอยากให้โครงการนี้ ดำเนินการในที่ดินของเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง เป็นที่ออกแบบและก่อสร้างมากกว่าจะใช้ที่ดินในความดูแลของกรมศิลปากร เนื่องจากกรมศิลปากรมีแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่หัวแหวนโดยรอบคูเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อรักษาโบราณสถานให้คงสภาพ ซึ่งส่วนราชการที่ดำเนินโครงการตามแผนแม่บทและแผนปฏฺิบัติการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จากนี้ต่อไป จะต้องทำเรื่อง/ส่งเรื่อง/ส่งแบบให้ทางกรมศิลปากรพิจารณาก่อนตั้งงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ จะไม่ล่าช้า ทางกรมศิลปากรมีข้อกำหนดอยู่ว่า ในระยะ 20 เมตร โดยรอบคูเมืองโบราณอู่ทองไม่อนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างใกล้คูเมืองโบราณอู่ทอง จะพยายามรักษาคูเมือง/กำแพงเมืองให้ได้มากที่สุด
-มีประชาชนหนึ่งท่านเสนอว่า ที่ดินบริเวณไฟฟ้าอู่ทองเดิมแคบไป
-มีประชาชนเสนอว่า ยังมีแปลงที่ดินอีก 2 แปลงที่จะใช้ก่อสร้างได้ แปลงแรก 15 ไร่ ซึ่งเทศบาลตำบลอู่ทองกำลังหมายตา สนใจจะใช้ก่อสร้างที่ทำการแห่งใหม่ และอีกแปลง 2 ไร่ ใกล้ตลาดนัดอู่ทองนิยม
-มีประชาชนเสนอว่า ที่ดินฝายชลประทาน ตรงวินยานุโยค ทาง กศน.ซึ่งแสดงความประสงค์จะใช้พื้นที่นั้น ไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมด อาจแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของ กศน.และส่วนที่จะพัฒนาศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์แห่งท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองได้ ขึ้นอยู่กับการเจรจา
-ผู้แทนชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดี อู่ทอง กล่าวว่า อยากให้ศูนย์บริการข้อมูลประชาสัมพันธ์นี้ ใช้พื้นที่ไม่มาก และมีการดึงเอาสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาใช้มากขึ้น เช่น พวกแอพพริเคชั่นส์บนมือถือ เพราะจะไม่เป็นปัญหาในการซ่อมบำรุงหากเทศบาลรับผิดชอบดูแลในอนาคต-ประชาชนซึ่งอดีตทำงานกรมศิลปากร กล่าวว่า ที่ดินในความดูแลของกรมศิลปากรในเมืองโบราณอู่ทองมีถึง 900 ไร่ โบราณสถานในคูเมืองโบราณอู่ทองก็มีแค่ 2 หมายเลข ส่วนโบราณสถานที่เหลือกระจัดกระจายอยู่โดยรอบนอกคูเมืองโบราณอู่ทองหมด บางแห่งก็อยู่บนยอดเขา เหตุใดจึงจะจัดสร้างศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ไม่ได้ เพราะก็เป็นประโยชน์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ โดยในช่วงท้ายของการจัดงาน นางศุภรดา กานดิศยากุล ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท.7 ได้สรุปประเด็นร่วมกับผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ จนได้ข้อยุติว่า จะเลือกทำเลบริเวณไฟฟ้าอู่ทองเดิม เป็นที่ที่จะใช้ออกแบบและก่อสร้างศูนย์ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทอง