มธ.คิด “Sit to Stand Trainer” ช่วยผู้สูงอายุฝึกยืน คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ
มธ.คิด “Sit to Stand Trainer” ช่วยผู้สูงอายุฝึกยืน คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ
นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ (Sit to Stand Trainer) รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประกาศเกียรติคุณ สาขาสังคมวิทยา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2565 ที่จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศ พบว่าปัญหาของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นปัญหาในการลุกนั่ง ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยลง จึงได้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ จะเข้ามาช่วยฝึกลุกยืนได้มาก เพราะเครื่องสามารถพยุงน้ำหนัก การปรับแรงช่วยของเครื่อง สามารถปรับได้ 9 ระดับ สามารถช่วยพยุงน้ำหนักได้ตั้งแต่ 20-50 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีระบบเซฟตี้ในการฝึกลุกยืน คือ เครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุมีเข็มขัดนิรภัยในการป้องกันผู้สูงอายุล้มลง เครื่องนี้ใช้งานง่ายแค่เพียงเสียบปลั๊ก ปรับแรงโดยใช้รีโมทคอนโทรล ซึ่งผู้สูงอายุสามารถทำได้ด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ยังปรับระดับของเบาะให้เหมาะสมกับสรีระได้อีกด้วย
เครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาความแรงความคล่องแคล่วว่องไว และลดโอกาสการหกล้มลงได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยเสริมสร้างร่างกาย เสริมกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูกและข้อ รวมถึงทำให้ผู้สูงอายุลุกยืนได้เป็นอย่างดี อย่างเป็นธรรมชาติ ถูกต้อง และปลอดภัย ผู้สูงอายุทั่วไป ควรจะฝึกลุกยืน ไม่ต่ำกว่าวันละ 60 ครั้งต่อวัน เพื่อคงสภาพของกล้ามเนื้อที่แข็งไว้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ได้กล่าวต่อว่า เครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ ได้นำไปทดลองทางชีวกลศาสตร์ พบว่า มีการเคลื่อนไวถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์ของการเคลื่อนไหว ซึ่งปลอดภัย สามารถนำไปใช้ได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายในส่วนล่าง ตอนนี้ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์แล้วมากกว่า 60 เครื่อง เช่นที่ ศูนย์ผู้สูงอายุ ท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี,
ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ จังหวัดปทุมธานี ชุมชนร่มเย็น รุ่งสิน จังหวัดปทุมธานี และบ้านผู้สูงอายุ 6 แห่ง ที่อยู่ในการดูแลของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์ อีกด้วย