ช. หนุนนักประดิษฐ์ สร้างผลิตภัณฑ์จากลวดลายใบบัว คว้ารางวัลเวทีนานาชาติ
วช. หนุนนักประดิษฐ์ สร้างผลิตภัณฑ์จากลวดลายใบบัว คว้ารางวัลเวทีนานาชาติ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนผลงานสิ่งประดิษฐ์ “การออกแบบและพัฒนาชุดของตกแต่งบ้านลวดลายใบบัว” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธ์วดี พยัฆประโคน อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 – 17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธ์วดี พยัฆประโคน ผู้ประดิษฐ์เปิดเผยถึงแนวคิดในการนำลวดลายของใบบัวมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบและพัฒนาของใช้ของตกแต่งบ้าน เนื่องมาจากบัวเป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งดอกมีรูปทรงสวยงามนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาในพิธีการทางศาสนา ใบบัวนิยมนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร เนื่องจากมีรูปทรงกลมขนาดใหญ่ ลวดลายสวยงาม มีกลิ่นหอมอ่อนและไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ เหมาะสำหรับบรรจุอาหารด้วยเทคนิคการห่อ มัด รัด ร้อย นอกจากนี้ในคติคำสอนบัวมักถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบถึงจิตใจที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ดังนั้น ความงดงามของลวดลายและความหมายที่เป็นสิริมงคลจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นลวดลายของตกแต่งบ้าน ที่ช่วยสะท้อนอัตลักษณ์และวิถีชีวิตชุมชนสอดแทรกในผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี
จากการศึกษาและนำใบบัวมาทดลองเย็บตะเข็บสร้างลวดลายใบบัวบนผ้า 3 แบบ แบบที่ 1 การตีตะเข็บลวดลายใบบัวจากจุดกึ่งกลาง แบบที่ 2 การตีตะเข็บลวดลายใบบัวจากมุมด้านข้าง และแบบที่ 3 การปะติดใบบัวขนาดเล็กลงบนผ้า จากการทดลองพบว่า การเย็บตะเข็บจะมีลายปรากฏบนผ้า 2 ด้าน คือ ด้านที่เป็นรอยพับ และด้านที่เป็นรอยเย็บ ทั้งสองด้านมีความสวยงาม แต่ด้านที่เป็นรอยพับจะมีมิติและให้ความโดดเด่นและสะดุดตามากกว่าด้านที่มีเฉพาะรอยเย็บ ดังนั้น การเลือกใช้ลายใบบัวด้านที่เป็นรอยพับจึงถึงใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบและตัดเย็บ อาทิ ชุดตกแต่งโต๊ะอาหารลายใบบัว, ชุดปลอกหมอนลายใบบัว, ชุดปลอกแก้วน้ำลายใบบัว, กระเป๋าผ้าลายใบบัว และโคมไฟลายใบบัว เป็นต้น
ในอนาคตจะมีการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ในแก่ชุมชนทอผ้าพื้นเมือง ในเขตพื้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งมีกลุ่มทอผ้าอยู่ทั่วไปภายในชุมชน