กักตัวอยู่บ้าน – เรียนออนไลน์ น.ศใช้สารคดีเป็นสื่อเรียนรู้
เมื่อโควิด – 19 แพร่ระบาดในรอบที่สอง หลายคนต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน บางหน่วยงานมีนโยบาย Work from home ทำงานกันที่บ้านแบบสลับกันหยุดบ้าง หรือหยุดยาวกันก็มี สำหรับสถานศึกษาและสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ขยายการเปิดเรียนออกไปแบบมีกำหนดบ้าง ไม่มีกำหนดบ้างเพื่อทำตามนโยบาย อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่การเรียนการสอนยังต้องดำเนินต่อไปด้วยการเรียนออนไลน์ พบผู้สอน ฟังเสียงอธิบายและตอบโต้กันผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ ในส่วนของนักเรียน นักศึกษาที่มีความพร้อมทางการเรียน แต่คนที่ไม่มีเครื่องมือที่จะสื่อสารถึงผู้สอนก็ต้องขวนขวายดิ้นรนกันไป ล่าสุดเราได้รับการรายงานจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนในสาขาคติชนวิทยา มานุษยวิทยา ศิลปศาสตร์ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วารสารสาสตร์หลายแห่ง ตั้งแต่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น ใช้สื่อของทางรายการวัฒนธรรมบันเทิง
ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนการสอน โดยเฉพาะสกู๊ปข่าวหลายชิ้นในคอลัมน์ประจำของรายการไทยบันเทิง อาทิ หัวใจในลายผ้า เรื่องนี้มีตำนาน อิ่มมนต์รส ดนตรีมีเรื่องเล่า และเพียงคำเดียว การเรียนโดยใช้สื่ออย่างข่าวสกู๊ปข่าว หรือสารคดีมาเป็นเครื่องมือในการทำให้ผู้เรียนเห็นภาพ ส่งผลต่อจินตนาการ ความคิด พร้อมไปกับยังทำให้ผู้เรียนสามารถติดต่างออกไปได้อีกมากมาย เกิดการแยกแยะ คิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ มากกว่าใช้ผู้สอนพร่ำพูดอยู่เพียงคนเดียว
ล่าสุดทีมข่าวศิลปวัฒนธรรมได้สร้างสรรค์สารคดีชุด“ในจังหวะและศรัทธา” หรือ Time of Faith เป็นสารคดีที่พูดถึงความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในที่ต่างๆ ซึ่งได้หล่อหลอมให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตตามวิถีของตัวเองได้อย่างมีความหวัง พลังใจ พร้อมไปกับทำให้ชีวิตอยู่เย็นและเป็นสุขได้ตามวิถีของตัวเอง ยิ่งในช่วงที่สังคมไทยและสังคมโลกประสบกับวิกฤตโรคระบาด กระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ความอยู่รอด ความขลาดกลัว วิตกกังวลของผู้คนมีสูงขึ้น ยิ่งทำให้ผู้คนเริ่มหันเข้าหาสิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำอย่างไรให้สภาวะจิตใจ จิตวิญญาญได้รับการ “บำบัด” หรือได้รับการ “เยียวยา” มีความหวังและพลังใจขึ้นอีกครั้ง
สารคดีชุดในจังหวะแห่งศรัทธา จะพาคุณสำรวจความเชื่อของเพื่อนมนุษย์ในพื้นที่อื่นแล้วหันมา “สำรวจพื้นที่ ความเชื่อความศรัทธาในตัวคุณ” สารคดี ออกอากาศไปแล้วทุกวันจันทร์ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2563ทุกวันจันทร์ ช่วงเวลา 17.30-18.00 น. แม้ตอนนี้สารคดีทั้ง 9 ตอนจะจบลงไปแล้ว แต่การที่ผู้คนที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้านในช่วงโควิด-19 ระบาดรอบ 2 จึงทำให้ผู้คนมีโอกาสเปิดชมรายการทางโทรทัศน์มากขึ้น สารคดีในจังหวะแห่งศรัทธา เป็นอีกหนึ่งรายการหนึ่งที่มีการแนะนำแบบเพื่อนบอกเพื่อนให้ได้ชมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิสิต นักศึกษาที่ได้รับมอบหมายงานจากอาจารย์ผู้สอนให้ชมสารคดีในแต่ละตอน และหลังจากนั้นก็ให้มาคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งสารคดีทั้ง 9 ตอน เริ่มที่ บุญบูชาน้ำ จะเห็นว่าเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชามีงานที่เชื่อมจิตวิญญาณผู้คนด้วยเทศกาลน้ำ ที่เรารู้จักในชื่อ “บอนอมตูบ”ที่สายน้ำมีความหมายต่อผู้คนในประเพณีสำคัญบอกผ่านกิจกรรมที่มีความหมายอย่างการแข่งเรือ ลอยประทีปและไหว้พระแข ไหว้ครูพระสุรัสวตีเทพีแห่งปัญญา บนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เขาเชื่อและศรัทธาต่อครูเทพเจ้าที่อยู่ในคัมภีร์และตำรามาชำระทำความสะอาดและเซ่นไหว้ตำราหนังสือเพราะนี่คือเทพเจ้าที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทีปาวลี สักการระวิถีแห่งพาราณสี ความเชื่อศรัทธาที่มีต่อพระแม่ลักษมีเทพีแห่งความมั่งคั่ง ทุกบ้านเรือนจึงต้องทำความสะอาดและตกแต่งประดับประดาบ้านตัวเองให้สว่างไสวในเดือนที่มืดที่สุดในรอบปี ซึ่งอาจจะคล้ายกับเทศกาลลอยกระทงในประเทศไทย แต่ในอินเดียความเชื่อนี้เชื่อมกับพระแม่ลักษมี บ้านไหนต้องการความมั่งคั่งจึงต้องช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนตัวเองกันอย่างครั้งใหญ่ ตีจ:ศรัทธาแห่งหน้าที่สตรีเนปาล แม้ความเชื่อในพื้นที่เนปาลจะมีความหลากหลาย แต่ศรัทธาความเชื่อหนึ่งที่ผู้หญิงเนปานมีบทบาทนั่นคือ “เทศกาลตีจ”เราจะได้เห็นพลังความศรัทธาของผู้หญิงฮินดูแต่ละคนจะแสดงความรักต่อสามีด้วยการถือศีลอด พร้อมกับอธิษฐานขอพรต่อเทพเจ้าให้กับสามีตัวเอง โลก 2 ใบของกุมารีเนปาล ความเชื่อนี้อยู่ที่เด็กหญิงชาวเนวาร์จากตระกูลศากยะ จะถูกเลือกขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณและเป็นเทพเจ้าที่มีลมหายใจหนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวเนปาลนับถือว่าเป็น”เทพธิดาตาเลจูหรือกุมารี” เธอจะทำหน้าที่นี้เทพเจ้าจนถึงวันหนึ่งที่มีเลือดออกจากร่างกาย หน้าที่ทางจิตวิญญาญก็จะจบลง ทรงเจ้าแม่เวียดนาม หรือ “เลินด่ง” แม้พิธีกรรมนี้จะถูกมองว่างมงาย ไร้เหตุผลและผิดกฎหมาย แต่ประเพณีความเชื่อการทรงเจ้าก็ไม่เคยหายไปจากวิถีความเชื่อศรัทธาของคนเวียดนาม แถมยังได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เนื่องด้วยเป็นประเพณีพื้นบ้านทรงคุณค่าสะท้อนศรัทธาผู้คนผ่านพิธีกรรมเต็มไปด้วยจิตวิญญาณและศิลปะ พุกามในรอยทางแห่งศรัทธา มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนามาก่อน พุกามจึงได้สมญานาม “ดินแดนเจดีย์สี่พันองค์” จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นอกจากความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้ว ดินแดนแถบนี้ยังมีความเชื่อดั่งเดิมนั่นคือ การบูชาผีนัต อารักษ์ท้องถิ่นที่หลอมรวมศรัทธาใหม่เก่า ทั้งพุทธศาสนาและนัต เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้ชาวเมียงมาได้อย่างลงตัว บูชาบรรรพชนผ่านมงคลโภชนา ในไต้หวันมีความเชื่อความศรัทธาของผู้คนที่นับถือเทพเจ้าที่มีคุณต่อมนุษย์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ต่างได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าได้ จะเห็นถึงการรู้คุณของผู้มีพระคุณที่ชาวไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าแต่ความเชื่อเหล่านี้ยังอยู่ในจิตวิญญาญของผู้คนทุกวัย พร้อมไปกับทำความรู้จักเทศกาลตงจื้อหรือไหว้บัวลอย เป็นเทศกาลมงคลที่ทุกคนในครอบครัวชาวจีนยังทำกันอยู่ ถือเป็นเทศกาลปีใหม่ทีเดียว