กระทรวงการอุดมศึกษาผนึกสถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่ง “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ยกระดับผู้ประกอบการ OTOP มิติใหม่ของวงการอุตสาหกรรมไทย
กระทรวงการอุดมศึกษาผนึกสถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่ง “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ยกระดับผู้ประกอบการ OTOP มิติใหม่ของวงการอุตสาหกรรมไทย
www.Thainewsvision.com
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ผนึกกำลังสถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดโอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม โดยการดำเนิน “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)” มิติใหม่ของวงการอุตสาหกรรมไทย เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสมผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับการตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย สู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ที่สะท้อนความเป็นไทย มีกลิ่นอายชุมชน มีเอกลักษณ์ มีเรื่องราว ในปี 2562 เน้นกลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศที่มีแนวคิดในการสร้างสินค้าชุมชนไทยให้มีมูลค่า ความแตกต่าง และสู่สากล ซึ่งเป็นหนึ่งแรงที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนไทยอย่างยั่งยืน
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS) เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จจากปี 2560 โดยในปีนี้มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม ได้แก่ผู้ประกอบการจากโครงการ OTOP IGNITE ในปี 2560 ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีฐานการผลิต ให้สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด
ด้านดร. ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า “สถาบันฯ เป็นอีกหน่วยงานที่มุ่งสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิต สามารถพัฒนาสินค้าสนองต่อความต้องการของตลาดระดับบน (High-end Market) มุ่งเน้นการสร้างความแตกต่าง โดยในโครงการ IGNITE PLUS มีแนวทางในการพัฒนาสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึกในรูปแบบ การผสมผสานกับวัสดุสังเคราะห์ เพื่อประโยชน์ทางด้านการใช้งาน เช่น ความนุ่มสบาย ระบายอากาศได้ดี การนำวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “สถาบันอาหารเข้ามาช่วยยกระดับผู้ประกอบการ กำหนดแนวทางการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยมุ่งเน้น 4 แนวทาง ได้แก่ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพตามทิศทางของตลาดที่กำลังเติบโตต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ (2) พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษของเหลือในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม (3) พัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย (4) พัฒนาสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ให้เป็นสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สามารถคงอยู่และเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต OTOP ซึ่งมีจุดอ่อนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดอาหารที่มีรอบระยะเวลาเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าอดีต ตอบโจทย์ตลาดปัจจุบันและอนาคตระยะใกล้ เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ”