สศก. ครบรอบ 43 ปี แถลง GDP เกษตร ไตรมาส 1 ปี 65 โต 4.4% คาดทั้งปีขยายตัว 2 – 3%
พร้อมจับตาความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครบรอบ 43 ปี เน้นย้ำบทบาทในฐานะเนวิเกเตอร์ (Navigator) ด้านเศรษฐกิจการเกษตร มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจเพื่อผลักดันให้ภาคเกษตรเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในทุกมิติ พร้อมเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565
คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หากสงครามมีความยืดเยื้อ จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานแถลงข่าววันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 43 ปี ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่า สำหรับปี 2565 สศก. ในฐานะเนวิเกเตอร์ (Navigator) ด้านเศรษฐกิจการเกษตร มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจเพื่อผลักดันให้ภาคเกษตรเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนา Big Data สารสนเทศด้านการเกษตร งานวิจัยที่มีความทันสมัย และแผนพัฒนาการเกษตรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ
นายฉันทานนท์ ยังได้เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2565 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2565) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564) ที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยการเติบโตได้ดีในไตรมาสนี้เป็นผลจากสาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักขยายตัว เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ถึงต้นปี 2565 และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้การผลิตพืชสำคัญ ทั้งข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวได้ตามพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมงและสาขาป่าไม้ ขยายตัวได้จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์หดตัวลงจากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ที่ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยง
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของลานีญา ประกอบกับภาครัฐมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรทั้ง
ในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วงและความแปรปรวนของสภาพอากาศในบางพื้นที่ แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งในด้านราคาปุ๋ยสารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
“เศรษฐกิจการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบทางตรงจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี วัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตหลักในการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังรัสเซียและยูเครนในปี 2565 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 70-90 เนื่องจากปัญหาในด้านการขนส่งและการกระจายสินค้า ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงมาก รวมถึงการระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งในรัสเซีย ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ ตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย อาจทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเช่นกัน และหากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อออกไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยชะลอตัวตามไปด้วย ดังนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความขัดแย้งในครั้งนี้จะบานปลายเพียงใด นานาประเทศจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียอีกหรือไม่ โดยเฉพาะการโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินโลก ซึ่งจะต้องจับตามองร่วมกันต่อไป” เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย