แวะสักนิสอุทยานหลวงราชพฤกษ์ (Royal Park Rajapruek)เชียงใหม่
แวะสักนิสอุทยานหลวงราชพฤกษ์ (Royal Park Rajapruek)เชียงใหม่
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (Royal Park Rajapruek) มีเนื้อที่กว่า 468 ไร่ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ซึ่งเป็น “อุทยานแห่งการเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวด้านการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ”
“หอคำหลวง” เป็นส่วนแสดงสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุด เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่ทรง อัจฉริยภาพและ ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิดว่า “พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย” นั่นคือที่มาของอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา “หอคำหลวง” โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานคณะอนุกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ“หอคำหลวง”
หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ท่ามกลางเนื้อที่กว่า 470 ไร่ ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สองข้างทางเดินสู่หอคำหลวงเต็มไปด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ ส่งให้หอคำหลวง เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดอีกทั้งตระการตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ประดับตกแต่งในบริเวณเสาซุ้ม ซึ่งออกแบบได้สวยงามตามอย่างสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ ๆจำนวนมากถึง 30 ซุ้มผ่านกระบวนการคิด การออกแบบ จากช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนานับสิบคน ถ่ายทอดผลงานอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา ให้งามสง่าท่ามกลางงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และหนึ่งในทีมงานสร้างครั้งนี้มี คุณรุ่ง จันตาบุญ หรือ ช่างรุ่ง สล่าล้านนา ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านน
ช่างรุ่ง ผู้ออกแบบ หอคำหลวง เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้าง อาคารที่เป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมล้านนาในครั้งนี้ว่า “เมื่อครั้งที่ได้รับมอบหมายให้คิดและออกแบบก่อสร้างอาคารสำหรับแสดงนิทรรศการ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติมายาวนานถึง 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ทำให้นึกถึง หอคำหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระราชวงศ์เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ในอดีตจึงคิดที่จะสร้างหอคำหลวง ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นสถาบันสูงสุดที่คนไทยเคารพรักเทิดทูน ด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนาว่ามีความงดงามและอ่อนช้อย”ระยะเวลาจากวันนั้นมาถึงวันนี้ผ่านไปเกือบสองปี อาคารหอคำหลวงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จากจินตนาการกลายมาเป็นแบบแปลน เรื่อยมาจนเป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น ตั้งอยู่บนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ลักษณะตัวอาคารชั้นล่างจะใช้การก่ออิฐถือปูนเป็นฐาน ส่วนพื้นที่ชั้นบนจะใช้ไม้แดงและไม้สักเป็นองค์ประกอบหลัก
ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากกว่า 2,700 ชนิด มีการจัดแสดงพรรณไม้ไว้อย่างน่าสนใจและสวยงามผสมผสานกับการออกแบบและจัดสวนให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของนานาชาติและของท้องถิ่นไทย โดยมีสวนไทยเป็นพื้นที่จัดแสดงพืชสวนเขตร้อนชื้น ที่มีหลากหลายของพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูป ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,900 ชนิด รวมแล้วมากกว่า 3.2 ล้านตัน ประกอบด้วยไม้ในกลุ่มต่าง ๆ คือ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะกล้วยไม้ สมุนไพร พืชผักและเห็ด พันธุ์ไม้หายาก และสวนอื่น ๆ เช่น สวนไม้หอม สวนไม้ในวรรณคดี สวนไม้ประจำจังหวัด อาคารเรือนร่มไม้ ฯลฯ
ทั้งนี้ยังจัดแสดงพันธุ์พืชต่าง ๆ ภายในกลุ่มอาคารเรือนกระจก ได้แก่ อาคารพืชทะเลทราย อาคารไบโอเทคโนโลยี อาคารพืชเขตร้อน อาคารพืชเขตหนาว และอาคารพืชไร้ดิน รวมทั้งยังมีหมู่บ้านสี่ภาค ที่จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นไทย และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามภูมิภาคนั้น ๆ สวนไทยประกอบด้วย
1. อาคารพืชทะเลทราย 2. อาคารพืชเขตร้อนชื้น 3. เรือนร่มไม้ 4. อาคารพืชไร้ดิน 5. อาคารกล้วยไม้ 6. สวนสมุนไพร 7. สวนบอนไซ 8. เรือนไทยภาคเหนือ 9. เรือนไทยภาคอีสาน10. เรือนไทยภาคใต้และเรือนไทยภาคกลาง นิทรรศการไม้ประจำจังหวัดเป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสวนนานาชาติ และสวนขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 50 สวน มีสถาปัตยกรรมล้านนาที่สวยงามอย่างหอคำหลวง รวมทั้งมีอุทยานกล้วยไม้ที่มีความร่มรื่น เต็มไปด้วยกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้แปลกใหม่และหายาก เรือนร่มไม้ โดมไม้เขตร้อนชื้น เรือนพืชทะเลทรายและอาคารโลกแมลงที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดหลักสูตรอบรมทางการเกษตรและการอนุรักษ์พันธุ์พืชรวมทั้งการจัดค่ายเยาวชนต่างๆ อีกด้วย
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ยังเปิดให้บริการพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมสัมมนา งานคอนเสิร์ต งานแต่งงาน งานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่หลายส่วนที่สามารถรองรับทั้งงานขนาดเล็กหรืองานขนาดใหญ่ ทั้งกลางแจ้งและในอาคารนิทรรศการขนาดใหญ่หรือจะเป็นการจัดกิจกรรมโดยใช้พื้นที่ในสวนองค์กรและสวนนานาชาติได้เปิดให้บริการทุกวัน ในเวลา 08.00-18.00 น. และมีแผนการดำเนินงานให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเทิดพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเป็นแหล่งเรียนรู้ศักยภาพและการดำเนินงานของโครงการหลวงและการเกษตรที่สูง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับนานาชาติที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว การพักผ่อน และวัฒนธรรมแก่ผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหาร สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร เยาวชน นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ประกอบกับการจัดสวนให้สวยงามเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี มีความร่มรื่น เหมาะกับการพักผ่อนและเที่ยวชมความงามของพรรณไม้นานาชนิด และที่มีคุณภาพสวนในระดับสากล ทั้งนี้เพื่อให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จึงจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
โดยอัตราค่าบำรุงอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ผู้ใหญ่ไทย 50 บาท เด็กไทย 25 บาท ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 100 บาทและเด็ก 50 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา คนละ 25 บาท ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 40 คนขึ้นไป คนละ 25 บาท”สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ หมายเลขโทรศัพท์ 053-114110-5 หรือ ที่เว็ปไซด์ www.royalparkrajapruek.org