“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” เร่งต่อยอดธุรกิจงานระบบคมนาคม
“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” เร่งต่อยอดธุรกิจงานระบบคมนาคม
“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” เร่งต่อยอดธุรกิจ เดินหน้ารุกรับงานออกแบบติดตั้งระบบสื่อสาร ระบบควบคุมการเดินรถและอาคารสถานี ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ รวมถึงเครื่องจักรของศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ยก “บีทีเอส-BEM” ให้โอกาสคนไทยโชว์ศักยภาพ ล่าสุดกวาดเรียบทั้งงานต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู และระบบรถไฟทางคู่
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด เปิดเผยว่า เราคือผู้นำด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางที่ให้บริการให้คำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และบำรุงรักษางานระบบรถไฟฟ้า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับงานโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลในการออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า (M&E System) ในหลายรายการของปี 2562-2563 ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีทอง สายสีชมพู สายสีเหลือง และรถไฟทางคู่ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ได้พัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้งานสำหรับรถไฟฟ้าแทนการนำเข้าคือ ชุดหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน (EMP) ชุดตรวจสอบการทำงานกล้องบนตัวรถไฟฟ้า (NVR Monitoring) ชุดแสดงตำแหน่งรถไฟฟ้า (DRMS) ซึ่งบริษัทสามารถเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
นายมารุตเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายและสายสีทองว่า สายสีเขียวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีหน้า สายสีทองคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนตุลาคมปีนี้ ส่วนสายสีชมพูและสายสีเหลืองได้เข้าไปดำเนินการบางส่วนขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ที่ เอเอ็มอาร์ เอเซีย ได้เข้าไปทำงานในส่วนของระบบสื่อสาร
นายมารุตกล่าวต่อว่า บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด รับงานออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ส่วนสายสีทอง บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด รับงานระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ทั้งหมดแบบเทิร์นคีย์ ส่วนสายสีชมพูและสีเหลืองรับงานเพียงบางส่วน ดังนั้นสายสีทองจึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเอเอ็มอาร์ เอเซีย ที่พัฒนา ออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบเองทั้งหมด เช่นเดียวกับสายสีเขียวส่วนต่อขยายจำนวน 2 สถานี จากสถานีตากสินถึงวงเวียนใหญ่ที่เป็นผลงานของเอเอ็มอาร์ เอเซียร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอ็นยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนรถไฟทางคู่จะพบว่าผู้ที่ออกแบบจะเป็นบริษัทจากต่างประเทศเป็นหลัก บริษัทของคนไทยจึงเป็นเพียงผู้รับเหมาช่วงเท่านั้น
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ระบุว่าปัจจุบันศักยภาพของคนไทย วิศวกรไทย ตลอดจนบริษัทของคนไทยมีความรู้ความสามารถโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะความรู้ความสามารถด้านงานออกแบบ ติดตั้งระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ ยกตัวอย่างกลุ่มบีทีเอส ที่เล็งเห็นศักยภาพของคนไทยด้วยการเปิดโอกาสให้วิศวกรและบริษัทของคนไทยได้รับงานออกแบบ จัดหาพร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ให้กับทางบีทีเอสตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิศวกรไทยก็ได้โชว์ศักยภาพการออกแบบและติดตั้งงานระบบเดินรถไฟฟ้าในแบบบูรณาการเบ็ดเสร็จ ให้เป็นที่ประจักษ์ผลงานชัดเจนแล้ว ทำให้ระบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงกับระบบหลักได้อย่างลงตัว เน้นระบบขนส่งโดยใช้ล้อยาง
“อยากให้รัฐบาลให้โอกาสคนไทยเป็นบริษัทนำทีมหลัก บริษัทของคนไทยก็จะมีโอกาสเติบโตแข่งขันกับต่างประเทศได้ จะไม่เป็นเพียงผู้ซื้อไปตลอด ควรเปิดกว้างเนื่องจากทีโออาร์งานโยธายังสามารถระบุไว้ให้กับบริษัทของคนไทยได้ แต่ระบบรถไฟฟ้า (M&E System) ในโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และระบบสื่อสารและระบบอาณัติสัญญาณในโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงน่าจะระบุไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อวันนี้คนไทยทำได้ดีแล้ว หากงานในประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้บริษัทคนไทยแล้วจะให้บริษัทคนไทย หรือวิศวกรไทยไปรับงานที่ไหนได้อีก”