เมืองแห่งศรัทธา…ปัตตานี
เมืองแห่งศรัทธา…ปัตตานี
เรื่อง –ภาพ พาฝัน ปิ่นทอง
คุณรดา จิรานนท์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี และกรรมการบอร์ดสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดโดยคุณ ณรงค์ สังข์ประสิทธิ์ จัดโปรแกรมทริป สื่อมวลชนเที่ยวปัตตานี ภายใต้งาน กัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภช เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว 2558 ขึ้นโดยมีระยะเวลา3 คืน 4 วันในระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2558คณะสื่อมวลชนเราเริ่มรวมตัวกันในเช้าวันที่ 4 มีนาคม 2558 ด้วยเที่ยวบินของสายการบินThaiLionair FL 8530 กรุงเทพ-หาดใหญ่ และเดินทางต่อไปยังที่หมายในครั้งนี้ของเราคือ จ. ปัตตานี เมืองที่ขึ้นชื่อว่า “บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด”
ปัตตานีคือจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพียบพร้อมด้วยแหล่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เช่น มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฯลฯ และพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งผืนป่า สายน้ำ และท้องทะเล นับเป็นอีกจังหวัดที่งดงามด้วยวิถีชีวิตของผู้คนและสภาพภูมิประเทศ สมกับความยิ่งใหญ่ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นอดีตอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์
ที่หมายแรกของคณะเราคือ…มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี เลขทะเบียนที่ 249 มีประวัติและความเป็นมาคือ ในปีพุทธศักราช 2497 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัดอันจะนำมาซึ่งสันติสุข ประกอบกับในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) เป็นจำนวนมาก สมควรสร้างมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามขึ้น เพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ของชาวไทยมุสลิม มัสยิดกลางแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างและตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามเป็นเวลา 9 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ(เริ่มต้นสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497) ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เดินทางมาประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและมอบมัสยิดแห่งนี้ให้แก่ชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี เป็นตึกคอนกรีตสองชั้น ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยสองข้างสูงเด่นเป็นสง่า แต่ก่อนนั้นหอคอยทั้งสองข้างเป็นหอกลางสำหรับตีกลอง เป็นสัญลักษณ์เรียกให้คนมุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ มัสยิดแห่งนี้นอกจากจะใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจเป็นส่วนใหญ่ คือ ประกอบพิธีละหมาดวันละ 5 เวลา ซึ่งเป็นกิจประจำวันแล้ว ยังใช้ในการละหมาดใหญ่ทุกวันศุกร์ โดยมีชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี คนท้องที่อื่นทั้งในและต่างประเทศมาร่วมพิธี โดยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00 น.-15.30 น. ยกเว้นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์ นอกจากนี้มัสยิดยังถูกใช่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาในวันเสาร์อาทิตย์แล้ว ก็จะมีการสอนอัลกุรอานแก่เด็กๆด้วย ทำให้มัสยิดแห่งนี้ผูกพันกับชุมชนและเป็นส่วนหนึงในวิถีชีวิตของมุสลิมในจังหวัดปัตตานีมานาน
จากนั้นในช่วงบ่ายคณะเราได้ออกเดินทางเพื่อไปเก็บบรรยากาศที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง จ.ปัตตานี จัดพิธีอัญเชิญ “องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” พร้อมด้วยองค์พระรวมทั้งสิ้น 29 องค์ พร้อมด้วยขบวนแห่สิงโต มังกรทอง แห่ไปตามเส้นทางต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธาต่อองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนียวได้เข้ามากราบไหว้สักการะ เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เช้า เนื่องจากมีชาวไทยเชื้อสายจีน และผู้ที่ศรัทธาในองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และองค์พระต่างๆ ได้ตั้งโต๊ะหมู่บูชา เพื่ออัญเชิญเกี้ยวขององค์พระต่างๆ ให้เข้าสู่ห้างร้าน ร้านค้า และบ้านเรือนของตนเอง โดยมีสมาชิของครอบครัวต่างรอคอยขบวนแห่ขององค์พระเพื่อที่เข้าไปกราบไหว้สักการะ ซึ่งจะนำมาซึ่งความโชคลาภ และความโชคดีตลอดทั้งปี จากนั้นผู้ที่อัญเชิญเกี่ยวองค์พระต่างๆ ไปยังแม่น้ำปัตตานี ที่บริเวณสะพานเดชานุชิด เพื่อปะกอบพิธีลุยน้ำ ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดงานมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทั้งนี้ ก็เพื่อแสดงถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขององค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และแสดงถึงความศรัทธาของลูกศิษย์ที่มีต่อองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ท่ามกลางการเฝ้าชมของผู้คนจากปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงชาวจีนจากประเทศใกล้เคียง
คณะเราเริ่มต้นในเช้าวันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่ปัตตานีอีกครั้งด้วยการเดินทางไปย้อนรอยลังกาสุระ 2,000 ปีที่เมืองโบราณยะรัง เมืองแห่งเจดีย์ ฮินดู-พราหมณ์ป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของ ประเทศไทยและเชื่อว่าเป็นที่ตั้ง อาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า “ลังกาสุกะ” หรือ “ลังยาเสียว” ตามที่มีหลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับ ลักษณะของเมืองโบราณยะรัง สันนิษฐานว่า มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกันถึง 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกัน ประกอบไปด้วย
– เมืองโบราณบ้านวัด มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบกว่า 25 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือในบริเวณพื้นที่บ้านจาเละ
– เมืองโบราณบ้านจาเละ มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำ โอบล้อมด้วยคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมถัดจากกลุ่มโบราณสถานบ้านวัดขึ้นไปทางทิศ เหนือประมาณ 1 กิโลเมตร
– เมืองโบราณบ้านปราแว เป็นเมืองคูน้ำ คันดินขนาดเล็กที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่ามีป้อมดินทั้ง 4 มุมเมือง และมีคลองส่งน้ำต่อเชื่อมกับคูเมืองโบราณบ้านจาเละสี่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ทั้ง 2 ด้าน
นอกจากร่องรอยของคูน้ำ คันดินคูเมืองโบราณทั้ง 3 แห่งแล้วภายในกลุ่มเมืองโบราณนี้ ยังปรากฎซากโบราณสถานเนินดินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 แห่ง การเดินทางไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงหมายเลข 410) จากจังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ 15 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงหมายเลข 4061) ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณและเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 400 เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ
นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานโครงการ ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ในวันและเวลาราชการค่ะ
วังยะหริ่ง หรือ วังเก่ายะหริ่ง นับว่าเป็นวังที่มีอายุนานนับร้อยปี วังเก่าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลยามูอำเภอยะหริ่งจังหวัดปัตตานี ปัจจุบันนี้เป็นบ้านพักของทายาทเจ้าเมืองยะหริ่งในอดีตทั้งนี้ยังเป็นสถานที่แวะเที่ยว ชม ความงามของวัง ที่มีโครงสร้างแบบสไตล์ยุโรป ผสมผสานศิลปกรรมพื้นเมือง และชวา
สร้างโดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม ในปีพ.ศ.2438 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลยามู ในเขตจังหวัดปัตตานี ลักษณะรูปทรงของวังเป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ แบบเรือนไทยมุสลิมผสมกับแบบบ้านแถบยุโรป ตัววังเป็นรูปตัวยู (U) ชั้นบนภายในอาคาร จัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านข้างของตัวอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นห้องสำหรับพักผ่อนของ เจ้าเมืองและบุตรธิดาข้างละ 4 ห้อง ชั้นล่างเป็นลานโล่งแบบใต้ถุนบ้าน วังเก่ายะหริ่ง จึงเป็นหนึ่งในอดีตหัวเมืองสำคัญของดินแดนมลายูที่ยังคงเก็บเรื่องราวเล่าขานสืบสานประวัติศาสตร์จากบรรพชนสู่ลูกหลานเมืองปัตตานี ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเช้าเวลา 09.00-11.00 น.และช่วงบ่ายเวลา 14.00-18.00 น.
อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดที่จะต้องแวะมาที่นี่ให้ได้ วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้)ตั้งอยู่ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี ตามตำนานกล่าวว่า พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิฐาน ปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า โดยมีเจ้าเมืองและไพร่พลเดินติดตามไป จนมาถึงวันหนึ่ง ช้างได้หยุดอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วร้องขึ้นสามครั้ง พระยาแก้มดำจึงได้ถือเป็นนิมิตที่ดี จะใช้บริเวณนั้นสร้างเมือง แต่น้องสาวไม่ชอบ พระยาแก้มคำจึงให้สร้างวัด ณ บริเวณดังกล่าวแทน แล้วให้ชื่อว่า วัดช้างให้ แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านลังกา หรือ สมเด็จพะโคะ หรือ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านได้เดินธุดงค์ไปมา ระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างให้ และได้สั่งลูกศิษย์ไว้ว่า ถ้าท่านมรณะภาพ ขอให้นำศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ ซึ่งเมื่อท่านมรณะภาพที่เมืองไทรบุรี ลูกศิษย์ก็ได้นำศพท่านมา ทำการฌาปนกิจที่วัดช้างให้ อัฐิของท่านส่วนหนึ่งฝังไว้ที่วัดช้างให้ อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปเมืองไทรบุรี ต่อมาได้สร้างสถูปบรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้ และตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต่างนิยมแวะเวียนเข้ามานมัสการหลวงปู่ทวดเป็นจำนวนมาก โดยทางวัดจะเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
ผ้ายันต์รับทรัพย์ ยันต์รับทรัพย์ และ ยันต์เพิ่มทรัพย์,ขุนช้างเจ้าทรัพย์,พระราหู,ปลัดขิกถือเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากมายเลยจริงๆพ่อท่านเขียว กิตติคุโณ หรือ พระครูอนุศาสน์กิจจาทร วัดหัวยเงาะ ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี หรืออีกนามที่ชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขนานนามว่า เทพเจ้าฝ่ายบู๊แห่งเมือง ลังกาสุกะเพราะท่านได้ทำนายเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ก่อนล่วงหน้า พร้อมกับสร้างตะกรุดพิศมรหลวงปู่ทวด แจก พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนมีเหตุการณ์ และตั้งแต่มีเหตุการณ์ยังไม่มีผู้ใดแขวน เครื่องรางของขลังของพ่อท่านเขียวแล้วสังเวยชีวิต ให้กับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลยแม้แต่คนเดียว ส่วนยิงไม่ออก ยิงไม่เข้า ยิงไม่ถูก หรือแม้แต่โดนระเบิดไม่เป็นไร มีให้เห็นอยู่ทุกวัน โดยที่เขาเหล่านั้นแขวนเครื่องรางของขลัง พ่อท่านเขียว วัดห้วยเงาะ เป็นส่วนมากจึงเป็นที่มาของ เทพเจ้าฝ่ายบู๊แห่งเมืองลังกาสุกะ
เที่ยงกว่าแล้วท้องไส้เริ่มทำงาน เหมือนจะกำลังบอกว่าหิว หิวแล้วน๊า ศูนย์วิสาหกิจชุมชนทรายขาวเป็นจุดหลักอีกจุดนึงที่ทุกคนกระตือรือร้นอยากให้มาถึงที่นี่ให้เร็วที่สุด แกงส้ม แกงไก่ ปลาทอด ไข่เจียว น้ำพริกกะปิแซบๆถือเป็นเมนูถุกปากถุกใจทุกคนในวันนี้ซะจริงๆกับฝีมือกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันอย่างเข็มแข็งในการผลิตสินค้าแปรรูปหลายอย่างจำหน่ายทำรายได้ได้เป็นอย่างดี
ห่างกันไม่ไกลนักเราขอแวะพักร้อนรับน้ำตกเย็นใจกันสักนิส น้ำตกทรายขาว เดิมชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกตะโกน มีต้นน้ำเกิดจากยอดเขานางจันทร์ในทิวเขาทรายขาว เทือกเขาสันกาลาคีรี ถูกค้นพบโดยพระครูศรีรัตนากร (ท่านสีแก้ว) เจ้าอาวาสวัดทรายขาว เมื่อปี 2475 อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวมีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ ในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงาม สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
หมู่บ้านกรือเซะเป็นที่ ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญ คือ มัสยิดกรือเซะ, สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกกว่า 20 แห่ง เช่น คูเมือง ป้อมปราการ ที่หล่อปืนใหญ่ บ่อน้ำโบราณ เตาเผาเครื่องถ้วยชาม จุดขนถ่ายสินค้า จุดเรือจม นาเกลือโบราณ สุสานเจ้าเมือง สุสานชาวต่างประเทศ สุสานนักรบปัตตานี ฯลฯ
กรือเซะในอดีตมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักออกไปกว้างไกลในฐานะเป็นที่ตั้งของเมืองปัตตานีสมัยอยุธยา และในฐานะเมืองหลวงและมหานครของดินแดนมลายู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปฟื้นฟูบูรณะเมือง โบราณแห่งนี้ ทั้งนี้ อาจจะมีเหตุผลว่า ไม่อยากไปรื้อฟื้นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มากด้วยปัญหาความขัดแย้งกับสยาม หรืออยุธยาในยุคนั้น รวมทั้งคำบอกเล่าที่ระบุถึงโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองปัตตานี คือ มัสยิดกรือเซะต้องคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ดังที่ปรากฏในหนังสือประวัติทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวางตอนหนึ่งกล่าวถึง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและมัสยิดกรือเซะไว้ว่า
“การที่ลิ่มโต๊ะเคี่ยมช่วย เจ้าเมืองปัตตานีสร้างมัสยิดนี้เปรียบเสมือนหนึ่งการจุดเพลิงแห่งความแค้น ให้รุ่งโรจน์ขึ้นในใจของลิ้มกอเหนี่ยวผู้น้องสาว เธอพยายามอ้อนวอนพี่ชายให้เลิกล้มการช่วยสร้างมัสยิดและเดินทางกลับเมืองจีน เสีย แต่ลิ่มโต๊ะเคี่ยมไม่ฟัง เข้าตั้งหน้าตั้งตาสร้างมัสยิดอย่างจริงจังสุดที่ลิ้มกอเหนี่ยวจะทนดู พฤติการณ์ของพี่ชายได้ เธอสาปแช่งอย่างโกรธแค้นว่า “แม้พี่จะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงไรก็ตามแต่ ขอให้มัสยิดนี้ไม่สำเร็จ” และคืนวันนั้นเองลิ้มกอเหนี่ยว สาวน้อยผู้ยึดถือประเพณี ก็หนีไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของมัสยิดที่พี่ชายกำลังก่อสร้างนั่นเอง”มัสยิดกรือเซะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นโบราณสถาน และในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมในปัจจุบัน
เครื่องจักรสานย่านลิเภา” และ “เครื่องถมทอง” (MUSEUM OF FERN VINE BASKETRY AND NIELLOWARE) สัมผัสศิลปหัตถกรรมอันวิจิตรบรรจงที่ชมได้ยากยิ่ง โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ตระหนักถึงคุณค่าแห่งการสืบสานศิลปหัตถกรรมไทยอันวิจิตรงดงาม เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ และสัมผัสหัตถกรรมอันทรงคุณค่าชมผลงานหัตถกรรม จากการสร้างสรรค์ของชาวบ้าน โครงการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่บรรจงวาดลวดลาย ถักถอด้วยความประณีต และอ่อนช้อยงดงาม พิพิธภัณฑ์เครื่องจักรสานย่านลิเภา และเครื่องถมทอง ธำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น.
ปิดท้ายชมการแข่งขันเชิดสิงโตโดยมูลนิธิเทพปูชนียสถาน เทศบาลเมืองปัตตานี สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี กำหนดจัดงาน มหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน กตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภช เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี ประจำปี 2558 ณ บริเวณศาลเจ้าเล่งจูเกียง ถนนอาเนาะรู โดยครั้งนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันจากประเทศมาเลเซีย 10 ทีม ประเทศไทย 10 ทีม แข่งขันรอบคัดเลือก วันที่ 6 มีนาคม และชิงชนะเลิศในวันที่ 7 มีนาคมมีกิจกรรมมากมาย ทั้งการแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสม การจำหน่ายอาหารพื้นเมือง 3 วัฒนธรรม การแข่งขันเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมย ชิงแชมป์ไทย-มาเลเซีย พิธีลุยน้ำ-ลุยไฟ การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด และมหรสพต่างๆซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจชมการแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก
ปัตตานี ยังมีอะไรรอนักท่องเที่ยวให้เข้ามาศึกษาหาความรู้ทั้งประวัติศาสตร์และแหล่งอารยธรรมอีกมากมาย ฉันก็เป็นคนหนึ่งแหละที่ยังเที่ยวชมความงดงามของเมืองปัตตานี ยังไม่ครบเลย และฉันก็เชื่อมั่นว่า พลังศรัทธาที่มีอยู่ในตัวฉัน คงจะทำให้ฉันได้กลับไปหาเธออีกเร็วๆนี้อีกครั้ง…ปัตตานีที่รัก