ส.ป.ก. สร้างเกษตรกรต้นแบบภาคกลาง 21 จังหวัด
ส.ป.ก. สร้างเกษตรกรต้นแบบภาคกลาง 21 จังหวัด
มุ่งพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ สืบสานงานของพ่อ สานต่อศาสตร์พระราชา
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ในด้านการเกษตรกรรม ภายใต้แนวคิด “การสืบสานงานของพ่อ สานต่อศาสตร์พระราชา” และได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้น้อมนำแนวพระบรมราโชบาย เพื่อปรับใช้ให้สอดคล้องกับภารกิจหลักของส.ป.ก.ในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน งานพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่พอเพียง พึ่งพาตนเองและอาศัยอยู่ในที่ดินของ ส.ป.ก. มีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ที่มั่นคง อันประกอบด้วย มีกิน มีอยู่ มีใช้ และพอร่มเย็น โดยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพื่อสร้างต้นแบบ การนำศาสตร์แห่งพระราชาไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. มาเรียนรู้อบรมที่แปลงต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเรื่องของการบริหารจัดการ แปลงเกษตรกรรม การพัฒนาอาชีพและการสร้างรายได้ให้กับตนเอง รวมถึงความปลอดภัยด้านอาหาร การสร้าง สิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน เกษตรกรจะได้นำทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาเป็นแปลงต้นแบบการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป”นายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ โดยมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และเกษตรกรผู้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ภาคกลาง ๒๑ จังหวัด จำนวน ๘๒ ราย ซึ่งการอบรมจัดเป็น ๔ รุ่น รุ่นที่๑ ภาคเหนือ รุ่นที่ ๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ ๓ ภาคกลาง และรุ่นที่ ๔ ภาคใต้ รวมผู้เข้ารับการอบรม ๒๘๘ ราย (เป็นเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน ๗๒ จังหวัดๆละ ๓ ราย และเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.จังหวัด จำนวน ๗๒ จังหวัดๆละ ๑ ราย) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑,๕๗๒,๔๐๐ บาท (ใช้ฐานคิดกับเกษตรกร ๒๑๔ ราย เจ้าหน้าที่ ๗๒ ราย วิทยากร ๓ ราย โดยเฉลี่ยรุ่นละ ๗๐ ราย) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติ และเพื่อให้เกษตรกรตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจใน เกษตรทฤษฎีใหม่ในทิศทางเดียวกัน และนำความรู้และความเข้าใจในแนวเกษตรทฤษฏีใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถ พึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่มั่นคง มีกิน มีอยู่ มีใช้ และพอร่มเย็น”