สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2564 พร้อมเปิดเผยเส้นทางความสำเร็จในงานวิจัยที่ช่วยลดปัญหาของประเทศ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2564 พร้อมเปิดเผยเส้นทางความสำเร็จในงานวิจัยที่ช่วยลดปัญหาของประเทศ
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในโอกาสเปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม by NRCT ซึ่งจัดขึ้นที่ วช. ว่า รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้นักวิจัยสัญชาติไทย และอุทิศตนให้แก่การวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยวันนี้ วช.ได้เชิญ ศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่มีความเชี่ยวชาญสูงทางวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช และได้อุทิศตนในงานวิจัยด้านมาลาเรียและมะเร็งท่อน้ำดี มาพูดคุยสื่อสารเรื่องราวงานวิจัยผ่านสื่อมวลชน เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักรู้ถึงผลสำเร็จในงานวิจัยที่ครอบคลุมอย่างหลากหลาย
ก่อนหน้านี้ วช.ได้เปิดตัว 2 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิปร วิประกษิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย โดยการเปิดตัวนักวิจัยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 พร้อมเตรียมเปิดบ้านฯ ให้นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญาฯ พูดคุยครั้งต่อไป ในวันที่ 7 เมษายนนี้
ด้านศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัย มาจากความสนใจศาสตร์การออกฤทธิ์ของยา ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การรักษาทางด้านการแพทย์ จึงกลายเป็นเส้นทางการวิจัยที่ท้าทายและมีโอกาสร่วมทีมกับนักวิจัยระดับโลก เนื่องจากเมื่อ 30-40 ปีก่อนมาลาเรียเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะการดื้อยาของโรค โดยงานวิจัยได้ศึกษาจนเข้าใจพยาธิสภาพของเชื้อผู้ป่วย และยาต้าน เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งสำเร็จด้วยดี
นอกจากนี้ ยังวิจัยพัฒนาหาวิธีวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ชอบกินอาหารหมักดอง อาหารไม่ปรุงสุก สะสมนานเข้าก็ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งในท่อน้ำดี และมักพบอาการของผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ดังนั้น งานวิจัยจึงมุ่งหาตัวบ่งชี้ในเลือดผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มต้น พร้อมพัฒนายาคุมโรค ขณะนี้งานวิจัยอยู่ในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ในการพัฒนาตัวยารักษาที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว เป็นการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ท้าทายและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยแก้ปัญหาของประเทศในการลดอุบัติการของโรค ลดต้นทุน ปลอดภัยต่อสุขภาพ และคนไทยได้เข้าถึงตัวยามากที่สุด จนทำให้ผลงานและนักวิจัยได้รับการยอมรับ พร้อมเน้นย้ำถึงการทำวิจัยนั้น นักวิจัยต้องมีเป้าหมายชัดเจน มีความตื่นตัวตลอดเวลา ผลงานจะสามารถต่อยอดและใช้ได้จริง