วช. หนุน มอ. ใช้ยางพาราไทย ผลิตอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียม ช่วยผู้ป่วยมะเร็งลำไส้
วช. หนุน มอ. ใช้ยางพาราไทย
ผลิตอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียม ช่วยผู้ป่วยมะเร็งลำไส้
www.Thainewsvision.comสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุน นวัตกรรมชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ผลิตจากยางพาราไทย ลดการนำเข้า และสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกร และผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ในประเทศไทย ผลงานวิจัยของนักวิจัย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภายหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ หรือผู้ประสบอุบัติเหตุทางช่องท้อง บางรายต้องพบเจอกับปัญหาความพิการ คือการต้องขับถ่ายอุจจาระทางรูเปิดของลำไส้ที่ผนังหน้าท้อง ซึ่งไม่มีหูรูด หรือที่เรียกว่า “ทวารเทียม” ดังนั้นอาจมีของเสีย อาทิ อุจจาระและการผายลม สามารถไหลออกมาได้ตลอด จึงมีความจำเป็นต้องใช้ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมควบคู่กันไป ชุดอุปกรณ์ที่กล่าวมานี้ประกอบด้วยแป้นติดผิวหนัง และถุงรองรับสิ่งขับถ่ายประกอบติดกัน ปัจจุบันต้องนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ 100 % จึงมีแนวโน้มต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนจำกัด เกิดการขาดแคลน ผู้ป่วยหลายรายต้องมีความทุกข์จากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ เนื่องจากไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ชุดใหม่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้ผลิตชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม จากยางพาราไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของสหสาขา เช่น ด้านผู้ผลิตยางพารา ด้านการแพทย์ ภาคเอกชนหลายองค์กร เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่ายางพาราข้อดีของชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ที่ผลิตโดยยางพาราไทย คือ ระคายเคืองผิวน้อย เนื่องจากใช้ยางสกัดโปรตีนต่ำ ได้พัฒนาขนาดอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของคนไทย สามารถเก็บกลิ่นได้ดีกว่าเดิมด้วยเทคโนโลยีของ PTTGC ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า 2-10 เท่า ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน อย.และได้รับรางวัลนวัตกรรมต่าง ๆ เป็นการช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ และลดการขาดแคลนของอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งสามารถประหยัดเงินภาครัฐและตอบสนองความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อไป
ผศ.นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่โรงพยาบาลหลายแห่ง โดยที่ผ่านมา ได้มีการแจกจ่ายไปยังในหลายจังหวัดด้วยการสนับสนุนของ วช. และมีการสั่งซื้อจากผู้ที่สนใจเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของจำนวนการผลิตทั้งหมด ในอนาคต มั่นใจว่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น พร้อมเน้นย้ำแนวคิด ว่าจะส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางพาราร่วมกับทางการแพทย์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ มาตรฐาน Halal เพื่อความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และพร้อมส่งออกได้ ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช. มีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาของไทยพัฒนานวัตกรรมในหลายด้าน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบัน วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัย ให้มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยหลายแห่งให้สามารถผลิตและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศ เช่น ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นวัตกรรมหลายประเภทสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และอีกหลายโครงการเป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป