วช.ลงนามความร่วมมือกับสวทช.สร้างการแข่งขันประเทศ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
วช.ลงนามความร่วมมือกับสวทช.สร้างการแข่งขันประเทศ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานการลงนาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยพิธีการฯ จัดขึ้นภายในงาน“วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2564 – 2565ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (บางนา)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญในการลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและสถาบันความรู้ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม อันเป็นหนึ่งใน 7 ภารกิจสำคัญของ วช. ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้และทักษะ ที่สอดคล้องกับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการสร้างความรู้จากการวิจัยในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวงวิชาการของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของไทยที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดย วช.มองการพัฒนาในระยะยาว 5 ปี หวังว่ากลไกความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็งของประเทศ ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศ และมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง
ขณะที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นกลไกสนับสนุนนักวิจัยระดับสูงของประเทศ ให้เกิดการรวมกลุ่มนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่จำเพาะสังกัด สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างบูรณาการ โดย สวทช. จะบริหารจัดการโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดยใช้ระบบการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรระดับสูงและสร้างความเป็นเลิศ รวมทั้งกลไกการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น อาทิ ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โรงงานต้นแบบ ด้านธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การจัดการสิทธิเทคโนโลยี มาร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการ รวมทั้งการใช้เครือข่ายต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ในระดับนานาชาติต่อไป”
สำหรับความร่วมมือในโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ถือเป็นขั้นบันไดสูงสุดของเส้นทางอาชีพนักวิจัย ด้วยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ในกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยโครงการมีคุณลักษณะเฉพาะตัวประกอบด้วย 1. มุ่งเน้นความเป็นเลิศ 2. ตั้งเป้าหมายท้าทาย 3. เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 4. ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และ 5. สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเป็นทั้งรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยผู้นำกลุ่ม และการสนับสนุนงบประมาณวิจัยไปพร้อมกัน เพื่อผลิตผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและแสดงศักยภาพในระดับนานาชาติ โดยประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือนี้ จะทำให้สามารถดึงทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน มาประสานเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เป้าหมายและวิธีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ