วช. ร่วมสร้างสังคมปลอดภัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม “BeBrave” ป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
วช. ร่วมสร้างสังคมปลอดภัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม “BeBrave” ป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
วันที่ 11 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการนำเสนอผลการศึกษาและผลผลิต “โครงการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมไทย” ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ เป็นโครงการที่ วช. ให้การสนับสนุน แก่ รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร หัวหน้าแผนงานโครงการฯ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยทีมคณะนักวิจัย
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมไทย” เน้นย้ำถึงความท้าทายในการทำให้สังคมน่าอยู่และปลอดภัย ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยในสังคม โดยการศึกษาสถานการณ์ทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของคนในสังคมเพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายจนก่อให้เกิดผลผลิตและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และทรงคุณค่า และไปสู่แนวทางการปฏิบัติ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น การสร้างระบบสังคมแห่งความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้สู่การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ และร่วมสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคนด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อนและประสานการดำเนินโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนรวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลผลิตจากงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งปัญหาความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาหนึ่งที่ไม่เลือกกลุ่มเพศ วัย อีกทั้งยังเกิดได้ในทุกสถานการณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการมีเครื่องมือกลไกในการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเครื่องมือในการป้องกันปัญหา สำหรับโครงการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นับเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ที่เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะในด้านเครื่องมือป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ทั้งยังมีการพัฒนาสื่อออนไลน์ให้เด็กเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร หัวหน้าแผนงานโครงการฯ เปิดเผยว่า การดำเนินงานวิจัยของแผนงานที่มีโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัย ทั้ง 3 โครงการ โดยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการเอาตัวรอดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพการนำแอปพลิเคชัน BeBrave ไปใช้ในการป้องกันการข่มขืน และนำเสนอแนวปฏิบัติที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีผ่านชุดการเรียนรู้และหนังสั้น ซึ่งมีเนื้อหาที่สอดแทรกความรู้และทักษะในการป้องกันตนเองจากการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน และสิ่งที่ถือว่าเป็นแก่นของงานวิจัย ได้แก่ แอปพลิเคชัน BeBrave ที่ได้พัฒนามาจนถึงปีที่ 2 โดยมีฟังก์ชันหลักในการขอความช่วยเหลือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผลจากการวิจัยที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากแต่ละภาคของประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ระบบ SOS BeBrave สามารถเชื่อมโยงไปยังสายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ได้ในทันที และดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ iOS และ Android ซึ่งในครั้งนี้ ได้ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจในการผลิตคู่มือแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ จำนวน 2 เล่ม ได้แก่ 1) คู่มือการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศ และ 2) แนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้คำแนะนำผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ผ่านระบบแอปพลิเคชันดังกล่าว อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมภายในงานมี การกล่าวสุนทรพจน์ (Speech) ในหัวข้อ “New Gen Anti Sex Crimes” โดย ตัวแทนนักเรียนและนักศึกษา จาก 6 สถาบัน ซึ่งเป็นการแสดงพลังของเยาวชนในการร่วมต่อต้านอาชญากรรมทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
ทั้งนี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจในครอบครัวและ การสร้างเครือข่าย ระหว่างครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อช่วยป้องกันปัญหาสามารถนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้คำแนะนำผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับคดีทางเพศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยับยั้งการก่อเหตุคดีทางเพศในอนาคตได้ต่อไป