วช. มอบรางวัลธนาคารปูม้าชุมชน ฟื้นปูม้าคืนสู่ทะเลไทย
วช. มอบรางวัลธนาคารปูม้าชุมชน ฟื้นปูม้าคืนสู่ทะเลไทย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลการประกวด “ธนาคารปูม้าชุมชน” เพื่อความยั่งยืน ในงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้มอบรางวัลฯ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน และมีนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะทำงานขยายผลธนาคารปูม้า นายสมบูรณ์ วงศ์กาด อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และนายสุชัช ศุภวัฒนาเจริฐ หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจ เข้าร่วมในพิธีมอบรางวัลฯ ณ เวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร พิธีมอบรางวัลการประกวด “ธนาคารปูม้าชุมชน” ที่ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูปูม้าคืนสู่ทะเลไทย เพื่อความยั่งยืน
ที่ วช. เข้าไปสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ชุมชนต้นแบบกว่า 500 ชุมชนทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูม้าและปล่อยคืนสู่อ่าวไทย มาตั้งแต่ปี 2561 โดยได้แบ่งประเภทการมอบรางวัลออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จำนวน 3 รางวัลได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านเขาดัน จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าท่าพยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และรางวัลชนะเลิศ ธนาคารปูม้าบ้านดอนสาม (ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปูปากน้ำชุมพร) จังหวัดชุมพร 2. ประเภทธนาคารปูม้าชุมชนเดิมที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านแหลมสน จังหวัดตราด รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านหยงสตาร์ จังหวัดตรัง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ธนาคารปูม้าชุมชนบ้านท้องโตนด จังหวัดชุมพร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ธนาคารปูม้าบ้านนาชุมเห็ด จังหวัดตรัง และรางวัลชนะเลิศ ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3. ประเภทศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าชุมชน จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชมเชย ธนาคารปูม้าบ้านหินกบ (ศูนย์เรียนรู้การเพาะและอนุบาลลูกปูม้าเพื่ออนุรักษ์โดยชุมชนบ้านหินกบ) จังหวัดชุมพรรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ธนาคารปูม้าชุมชนสำเภาคว่ำ จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ศูนย์เรียนรู้การขยายพันธ์ุปูม้าและธนาคารปูม้าแบบชุมชนมีส่วนร่วม อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และรางวัลชนะเลิศ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ รางวัลธนาคารปูม้าที่มีศักยภาพสูงด้านการพัฒนา 1 รางวัล คือ ธนาคารปูม้าบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราดธนาคารปูม้า (Crab Bank) เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่รัฐบาลที่จะฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรปูม้าในทะเลไทย โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติให้เจริญเติบโตกลับแทนไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ด้วยวิธีง่าย ๆ แต่ให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล ซึ่งธนาคารปูม้าในแต่ละชุมชนมีกิจกรรมและรูปแบบที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่มีหลักการที่คล้ายกันคือ คนในชุมชนจะร่วมมือกันนำแม่ปูที่มีไข่แก่นอกกระดองมาฝากไว้ในกระชังหรือคอกเพื่อให้แม่ปูม้าปล่อยไข่ก่อนนำแม่ปูไปขาย แล้วจึงนำลูกปูม้าที่เพาะฟักจากไข่ไปปล่อยคืนสู่ทะเล เป็นอาหารและแหล่งที่มาของรายได้ชาวประมงต่อไป