วช.ชูกรณีศึกษาพะยูนมาเรียม “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ”
วช.ชูกรณีศึกษาพะยูนมาเรียม “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ”
www.Thainewsvision.com
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศและส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จึงเป็นหน่วยงานกลางที่ประสาน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันบนฐานงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวในทุกภาคส่วน วช. จึงจัดการแถลงข่าว เรื่อง “พะยูนมาเรียม” “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ” ขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ทะเลไทยไร้ขยะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. ร่วมกันแถลงข่าว
จากการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติกที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น … ไม่ว่ามาเรียมพะยูนน้อย เต่า หรือวาฬ แสดงให้เห็นว่า ขยะพลาสติกสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลและสภาพแวดล้อม ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างครบวงจร ตรงประเด็นและเบ็ดเสร็จทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติ บนฐานการวิจัยที่พร้อมใช้งาน และสามารถปรับไปตามสภาพปัญหาและพื้นที่ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจริงใจของทุกภาคส่วนในการลดปัญหาการตกค้างของขยะพลาสติกในทะเล จากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น วช. ได้ชูประเด็นในการแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการวิจัยและพัฒนาซึ่งต้องดำเนินการใน 5 ประเด็นหลักคือ
➢ ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการจัดการขยะและการนำกลับไปใช้ใหม่ สามารถตรวจสอบเส้นทางวงจรผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตถึงวาระสุดท้ายของพลาสติก โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่ผลิตเม็ดพลาสติก ในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาแล้วมากกว่า 15 ผลิตภัณฑ์ รวมถึง บรรจุภัณฑ์ หลอด วัสดุก่อสร้าง วัสดุประกอบอาคาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
➢ ชุมชนในพื้นที่ทุกจังหวัดที่ติดทะเล จะต้องรู้วิธีจัดการขยะพลาสติกได้ด้วยตนเองและเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ได้ดำเนินการใน 23 จังหวัดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาทิ ชายหาดบางแสน แสมสาร เกาะหลีเป๊ะ และเกาะภูเก็ต
➢ ต้องมีกระบวนการเก็บและจัดการขยะในทะเลอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และชุมชน และรู้ตัวเลขขยะพลาสติกในทะเลที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปีที่หนึ่ง และเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปีถัดไป
➢ นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลโดยไม่เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ โดยเฉพาะการตกค้างในสัตว์ทะเลและสิ่งมีชีวิต
➢ ลดการตกค้างของไมโครพลาสติกที่ตกค้างในทะเลและสิ่งมีชีวิตบนฐานจากการวิจัยที่สามารถเทียบมาตรฐานกับนานาชาติได้
ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถลดการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติก และสัตว์ทะเลจะได้รับการป้องกันจากอันตรายและผลกระทบจากขยะทะเลในที่สุด”