ม.มหิดล ศาลายา พัฒนา ‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’สู่อุทยานการเรียนรู้ระดับประเทศ
ม.มหิดล ศาลายา พัฒนา ‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’สู่อุทยานการเรียนรู้ระดับประเทศ
คุณอินทิรา วุฒิสมบูรณ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครปฐม สมุทรสาครและสมุทรสงครามได้นำคระสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติโดยมีรศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ พร้อมด้วยนายสุทธิ ตันศิริมาศ ผู้อำนวยการอาคารมหิดลสิทธาคารและคณะร่วมให้การต้อนรับ
รองศาสตราจารย์ พร้อมจิตกล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2525 จาก “สวนสมุนไพร” ริเริ่มโดยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดี และศาสตราจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ในสมัยนั้น เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยเพื่อการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยพัฒนา รวมทั้งเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม สวนสมุนไพรนี้ว่า “สิรีรุกขชาติ” และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ยกระดับพื้นที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ธรรมชาติและเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ทางด้าน พฤกษศาสตร์ และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ”
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ประกอบด้วย 7 อาคาร 7 ลาน และกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้และบริการวิชาการต่างๆ สำหรับประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและนักวิจัย พร้อมจัดแสดงนิทรรศการถาวร “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” . ลานวิจิตรรุกขทัศน์ จัดแสดงสมุนไพรไม้พุ่ม และไม้ล้มลุกในกระถางขนาดใหญ่รูปดอกไม้ บนลานหินกว้าง อาคารให้บริการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย และให้คำปรึกษา การใช้ยาสมุนไพร พร้อมการนวดรักษาแบบราชสำนัก พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ จัดปลูกในรูปแบบสวนสาธารณะ มีไม้ยืนต้นเป็นหลัก พร้อมทั้งไม้เลื้อยขนาดใหญ่และแซมด้วยพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ทำให้ มีความร่มรื่นสามารถใช้ศึกษาพืชสมุนไพรและพักผ่อนไปพร้อมๆ กับกิจกรรมการศึกษาจำแนกชนิดนกสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรอบตัว
นอกจากนี้ยังลานชนผัสสพฤกษา ลานสมุนไพรที่อำนวย ความสะดวกในการศึกษาสมุนไพรเป็นพิเศษสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ขึ้นเป็นพิเศษ ผู้พิการทางสายตาจะสามารถสัมผัส ดม และชิมให้เกิดความรู้เชิงประจักษ์ และห้องปฎิบัติการวิจัยการขยายพันธุ์ สมุนไพรพืช ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชั้นที่ 2 พิพิธภัณฑ์สมุนไพร (Herbarium) ที่รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้สมุนไพรแห้ง เพื่อเป็นมาตรฐานเปรียบเทียบให้บริการตรวจสอบชนิดและสร้างเครือข่ายติดต่อกับ พิพิธภัณฑ์พืชในต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็น ส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย
ทั้งนี้ในระดับนานาชาติ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการยกย่องเป็น Medicinal Plant Garden แห่งเดียวของประเทศไทย ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมร่วมอาเซียนกำหนดขึ้น และจะเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สำคัญของภูมิภาค ที่สำคัญยังถือเป็น แหล่งเรียนรู้เพื่อปลุกกระแสให้คนไทยหันมาร่วมกันสร้างป่าสมุนไพรในเมือง เพื่อสุขภาพที่ดีและความมั่นคงด้านยารักษาโรค ผู้สนใจสามารถเข้าชมข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมของ “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” ได้ที่ www.sireepark.mahidol.ac.th