ทีมสัตวแพทย์ เฝ้าดูแล “มาเรียม”พะยูน เพศเมียอย่างใกล้ชิด คาดอีก 6 เดือนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้
ทีมสัตวแพทย์ เฝ้าดูแล “มาเรียม”พะยูน เพศเมียอย่างใกล้ชิด
คาดอีก 6 เดือนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้
หลังจากที่มีการพบลูกพะยูน เพศเมีย อายุประมาณ 1 ปี พลัดหลงจากแม่และว่ายน้ำตามเรือเข้าเขตจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ ทช. จึงนำตัวมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพแบบธรรมชาติ บริเวณจุดชมพะยูน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นั้น เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.62 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดเฝ้าระวังและอนุบาลลูกพะยูนเกยตื้นชั่วคราวว่า ได้รับการรายงานถึงสถานการณ์ของลูกพะยูน หรือเจ้ามาเรียมจากน.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หัวหน้าทีมสัตวแพทย์ที่เฝ้าดูแลลูกพะยูนตัวดังกล่าวอย่างใกล้ชิดว่า ขณะนี้เจ้ามาเรียมมีสุขภาพแข็งแรงดี ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับที่ผอม โดยทีมสัตวแพทย์ได้ให้นมและสารอาหารที่ทดแทนอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเจ้ามาเรียม ส่วนอาการอื่นๆ ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังและดูแลในเรื่องของโภชนาการหลักอย่างใกล้ชิด โดยเจ้ามาเรียมสามารถตอบสนองการกินนมและหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันทีมสัตวแพทย์จะให้นมประมาณ 1-2 ลิตร/วัน พร้อมกับให้วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่สำคัญ โดยการให้นมนั้นจะให้ไปเรื่อยๆ ตามความต้องการในแต่ละวัน เปรียบเสมือนการเลี้ยงดูแบบธรรมชาติที่ลูกพะยูนจะต้องกินนมแม่ได้ทั้งวัน นอกจากนี้ทีมสัตวแพทย์ได้พาเจ้ามาเรียมว่ายน้ำเพื่อให้ลำไส้มีการขยับตัวเพื่อลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อเหมือนเด็กทารก และที่สำคัญเป็นการออกกำลังกายและลดความเครียดให้กับเจ้ามาเรียมได้เช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าประมาณ 6 เดือน ถ้าเจ้ามาเรียมมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ ทางกรม ทช. ก็จะปล่อยเจ้ามาเรียมกลับคืนสู่ท้องทะเลต่อไป
นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับชื่อของลูกพะยูนเพศเมียตัวดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “มาเรียม” ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามที่ชาวบ้านเกาะลิบงช่วยกันตั้งชื่อนี้มีความหมายว่า “ผู้หญิงที่มีจิตใจงดงาม” เปรียบเสมือนความรัก ความหวงแหน และความผูกพันที่ชาวบ้านเกาะลิบงมีต่อพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวนประจำท้องถิ่นของจังหวัดตรัง
สำหรับลักษณะโดยทั่วไป พะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม รูปร่างของพะยูนเป็นทรงกรวยคล้ายโลมา บ้างก็ว่าคล้ายวัวมากที่สุดเพราะมันกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร รูปร่างหน้าตาของพะยูนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะส่วนหัวมีลักษณะคล้ายวัว คนส่วนใหญ่จึงเรียกมันว่า วัวทะเล แต่ส่วนลำตัวนั้นกลับมีความคล้ายคลึงกับปลา ผิวหนังหนา มีสีต่างๆ เช่น สีเทา สีนํ้าตาล และบางตัวก็มีสีนํ้าตาลอมชมพู ตลอดลำตัวของมันมีขนเล็กๆ ขึ้นอยู่โดยทั่วไปของร่างกาย และขนแข็งๆ ของมันจะอยู่ที่บริเวณปากและสองแก้มของมัน มีตาและหูเล็กๆ อย่างละคู่ ไม่มีใบหู มีกรีบด้านหน้าหนึ่งคู่คล้ายแมวนํ้า มีติ่งนมเล็กอยู่ใต้ลำตัวตรงแนวใต้กรีบทั้งสองข้าง ภายในกรีบหน้าทั้งสองข้างประกอบด้วยกระดูกข้อนิ้วข้างละห้านิ้วคล้ายกับกระดูกมือของมนุษย์ ตรงส่วนหางนั้นมีหางเป็นแฉกคล้ายปลาวาฬเพื่อใช้ในการเปลี่ยนทิศทางและในการว่ายนํ้าของมัน พะยูนมีโครงสร้างร่างกายในลักษณะลำตัวตันมีชิ้นเนื้อ กระดูก และไขมันรวมทั้งผิวหนังที่หนา ไม่มีเกล็ด ไม่มีส่วนใดของร่างกายของพะยูนที่จะเป็นอาวุธในการป้องกันตนเองและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มันว่ายนํ้าด้วยความเร็วที่ 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่ช้ามากหากเปรียบเทียบกับสัตว์ทะเลประเภทอื่นๆ
นายจตุพร กล่าวต่อว่า กรมฯ ต้องขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เข้ามาดูแลและเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ที่ให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ อีกทั้งภาคประชาชน และจิตอาสาจากชุมชนเกาะลิบง จ.ตรัง ในการเอื้อเฟื้ิอสถานที่อนุบาลเจ้ามาเรียม พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้กับทีมสัตวแพยท์และเจ้าหน้าที่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในด้านการป้องกันแนวเขต อีกทั้งการอนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูนให้อยู่คู่ท้องทะเลจังหวัดตรังสืบไป
นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ กิจกรรมทางทะเลการสัญจรทางเรือ และเครื่องมือประมง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพะยูนได้ เช่น หากมันว่ายน้ำออกไปนอกแนวเขต ก็อาจถูกเรือชน หรือถูกใบพัดเรือ รวมทั้งอาจไปติดเครื่องมือประมงบางชนิด หรือว่ายน้ำเผลอเข้าไปเกยตื้น ฉะนั้น จึงขอเน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามกติกาที่พึงมีอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1. ห้ามลงน้ำ/ดำน้ำกับพะยูน 2. ห้ามขับเรือไล่ ต้องดับเครื่องเมื่อเข้าใกล้ 3. เมื่อพะยูนแสดงให้เห็นว่าถูกรบกวนพฤติกรรม ต้องยุติกิจกรรมทั้งปวง 4. เรือทุกลำต้องลงทะเบียน เพื่อสามารถจัดการดูแลได้ 5. ควรมีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดกติกา/จำนวนเรือในพื้นที่ ตลอดจนปรึกษาหารือเรื่องอื่นๆ ร่วมกัน 6. ควรต้องมีการศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวชมพะยูนเป็นการเร่งด่วน และ 7. ไม่ทิ้งขยะลงในท้องทะเล เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้อาจจะสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสัตว์ทะเลหายาก ระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล หรือทำลายทัศนียภาพอันงดงามของเกาะลิบงอีกด้วย “นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย”