“กสอ.” จับมือ “มทร.ธัญบุรี” เชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาธุรกิจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร และรับการ Upskill / Reskill ออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
“กสอ.” จับมือ “มทร.ธัญบุรี” เชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาธุรกิจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร และรับการ Upskill / Reskill ออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้รับความไว้วางใจให้ร่วมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นับว่าเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงบทบาทและพันธกิจของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี ในการให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม รวมถึงให้บริการวิชาการหรือนวัตกรรม แก่ภาคประกอบการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและสังคม สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และด้วยความรู้จากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบกับความเข้มแข็งในภาคการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย จะสามารถทำให้เกิดแนวคิด เกิดการพัฒนาธุรกิจ รู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรของประเทศไทยในท้ายที่สุด
ด้าน นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวเสริมว่า กสอ. ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี จัดกิจกรรมเปิดตัวกิจกรรมพัฒนาธุรกิจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้านการบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทั้งหมดทั่วประเทศ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย คือ 1.พัฒนารูปแบบการให้บริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพ 2.เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการด้านการบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตร และ 3.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้เข้าถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ
กิจกรรมในปีนี้ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำ IAiD Application ซึ่งได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นต้นแบบ Digital Platform นำร่อง และได้รับความสำเร็จมากมีผู้ให้บริการเข้าร่วมใน IAiD Application 54 ราย มีเครื่องจักร/บริการทางการเกษตรกว่า 87 รายการ เป็นผลให้มียอดการซื้อกว่า 1.5 ล้านบาท ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งในครั้งนี้ IAiD Application ได้ถูกพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ พฤติกรรมผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ในหลายด้าน เช่น ภาพลักษณ์ ใช้งานง่าย สะดวกต่อการใช้งาน ข้อมูลสถิติที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้/ผู้รับบริการ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จะมีผู้ให้บริการที่เข้าร่วมใน IAiD Application เพิ่มขึ้นกว่า 106 ราย และคาดว่าจะมียอดการซื้อสูงถึง 2.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีการ Upskill/Reskill ในรูปแบบออนไลน์สอดคล้องและก้าวทันในยุค Digital Marketing นี้ด้วย เช่น หลักสูตรรู้ให้เท่าก้าวให้ทัน กับการตลาด 5.0 หลักสูตรการสร้างแบรน์ในโลกออนไลน์ หลักสูตรสิทธิบัตรนั้นสำคัญไฉน เป็นต้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จทางภาคการเกษตรของประเทศ ทั้งการบูรณาการสร้างความเชื่อมโยง พันธมิตรธุรกิจ การส่งเสริมการตลาด การปรับปรุงเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์และการบริการ การส่งเสริมโอกาสและการพัฒนา การเพิ่มพูนทักษะและความชำนาญในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญ คือการพัฒนาธุรกิจบริการด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงทุกองคาพยพทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมในโครงการได้ออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดวิถีใหม่ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นลักษณะรูปแบบกิจกรรมออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้ม (Trend) สังคมโลกและในอนาคตที่สำคัญต่อธุรกิจภาคการเกษตร
ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง มทร.ธัญบุรี ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมนี้จะช่วยผู้ให้บริการเครื่องจักรเครื่องมือทางเกษตรจะสามารถเพิ่มช่องทางขายการให้บริการ และเป็นการยกระดับเกษตรกรได้ใช้กลไกออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงเครื่องจักรเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ควบคุมการใช้ต้นทุนได้ และจะเป็นรูปแบบการเกษตรในวิถีใหม่อีกด้วย โดยผู้สนใจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรแบบครบวงจร สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน IAiD ได้แล้ววันนี้ทั้งในระบบ Android และ iOS และสามารถติดตามข่าวสารของกิจกรรมรวมทั้งข่าวสาร ความรู้ ได้ทาง www.iaid.in.th และ https://www.facebook.com/SmartIAIDPlatform